คนเราย่อมไม่เท่าเทียม

ด้วยเอกสิทธิของทนายความผมจึงได้มีโอกาสนั่งอยู่ในห้องพิจารณาในศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในระหว่างที่คดีรอพิจารณา ก็มีการพิจารณาคดีอื่นไปก่อน คดีแรก พ่อกับแม่แย่งลูกกัน พ่อเป็นญี่ปุ่น แม่เป็นไทย ตั้งทีมทนายสู้กันเพื่อ12419308_10154513716299008_6138293657056209710_oแย่งสิทธิลูก ต่างฝ่ายต่างขนทนายที่ตัวเองคิดว่าเจ๋งที่สุดเข้ามาต่อสู้กัน เชือดเฉือนกันเอาเป็นเอาตายมีการส่งประเด็นไปสืบต่อที่ศาลอื่น หมายความว่าคดีนี้ไม่จบอย่างง่ายๆ แน่นอน…… คดีต่อมาเป็นคดีเด็กหญิง หน้าตาดีอายุ 12 ปีถูกจับขโมยของเล็กน้อยที่ห้างโลตัส ศาลได้มีหนังสือตามไปที่ผู้ปกครอง ไม่มีใครมารับ เป็นเด็กไร้พ่อ ไร้แม่ ไร้ญาติพี่น้อง แต่น้องก็พูดจากับศาลด้วยใบหน้ายิ้มแย้มอย่างที่รู้อย่างแน่นอนว่าไม่มีใครมารับแน่ ศาลได้พูดคุยและให้เลือกว่าจะไปอยู่ที่บ้านสงเคราะห์ที่ไหนน้องอยากเรียนอยากเป็นพยาบาล ศาลช่วยวางแผนชีวิตว่าไปบ้านไหนมีโอกาสได้เรียนต่อ ….. คดีที่สามเด็กชายเกเร คนหนึ่งขับรถชนคนอื่น ถูกพ่อตามใจ ศาลถามว่าพ่อสบายใจไหมกับพฤติกรรมลูก พ่อตอบ 50-50 ศาลก็สอบถามว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร พ่อบอกไม่รู้เด็กไม่เชื่อฟัง ไม่เรียหนังสือตอนนี้ให้มาทำงานที่บริษัทฯ พ่อ ก็มาบ้างไม่มาบ้าง เด็กไม่ตระหนักถึงการกระทำผิด พูดว่าเดี๋ยวชดใช้เงินให้กับผู้เสียหายอย่างเต็มปาก ประหนึ่งเคยมีเหตุการณ์แบบนี้แล้วพ่อเจรจาจบลงมาก่อนคดีนี้แล้ว …… ผมไม่ค่อยชอบทำคดีที่ศาลเยาวชนฯสักเท่าไร เพราะความจริงในศาลแห่งนั้นมันเจ็บปวดเสมอ ผมเคยได้ยินจินตนาการของหลายคนว่า โลกเราล้วนแต่เท่าเทียมกัน แต่ความจริงอันโหดร้ายปฏิเสธคำพูดนั้นแบบเชือดนิ่มๆ ตอกย้ำว่าคนเราไม่เท่าเทียมกัน เริ่มจากที่สัมผัสง่ายๆ สูงต่ำ ดำขาว อย่างนี้ก็ไม่เท่าเทียมกันแล้ว นี่ยังไม่นับเกิดจากครอบครัวที่มีต้นทุนทางสังคมที่ไม่เท่ากันอีก ดังนั้นคนเราเกิดมาย่อมไม่เท่าเทียมกัน เหลือแต่เพียงกฏหมายที่ควรจะเป็นสิ่งที่ต้องเท่าเทียมกัน โดยหลักกฎหมายสากล “ทุกคนล้วนแต่เท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย” ผมเคยเชื่ออย่างนั้นมาตลอด แต่ความจริงในสังคมในทุกวันนั้น มันอาจจะทำให้ผมตั้งคำถามในใจว่ามันยังเป็นจริงอยู่ไหม แต่หากผมคิดว่ากฎหมายนั้นไม่ยุติธรรมแล้ว ผมก็ควรจะเลิกทำงานกฎหมาย เพราะไม่อาจยอมรับความไม่ยุติธรรมในความไม่เท่าเทียมกันได้ ตอนนี้ผมแค่ตั้งคำถาม แต่ผมยังไม่อยากตอบคำถามนั้น แต่ก็ไม่แน่ ว่าอีกไม่นาน ผมจะตอบคำถามนั้นอย่างจริงจังและเมื่อนั้น ผมอาจเลิกทำงานด้านกฎหมายไปเสียก็ได้ …. ผมว่าในความไม่เท่าเทียมกันในตอนเกิดมาก็ไม่ได้กำหนดเส้นทางของชีวิตใครได้ เป็นแต่เพียงโอกาสในตอนเริ่มต้นของชีวิตของคนที่ไม่เท่ากัน ถ้าเริ่มต้นดีแล้วเดินต่อชีวิตก็ง่าย หากเริ่มต้นไม่ดี พยายามให้ไปต่อถึงจะยากแต่ก็ไปได้ ผมเรียนจบรามคำแหง มหาลัยแห่งคนจน ผมมีเพื่อนที่เรียนรามคนหนึ่ง เรียนนิติศาสตร์ด้วยกัน เป็นคนหัวไม่ค่อยดี แต่ขยันอย่างที่สุด กลางคืนทำงานเสิร์ฟอาหาร รุ่งเช้า เข็นผักในตลาดหาเงินส่งตัวเองเรียนแถมต้องส่งเงินให้ทางบ้านด้วย เวลาเรียน ก็ไปเรียนด้วย เค้าจะเลือกเรียนในคาบบ่ายเป็นหลัก เค้าใช้ความพยายามเรียนจบ นิติศาสตร์ 6 ปี จบมาก็เริ่มทำงานเป็นเสมียนทนาย เก็บเงินส่งเสียตัวเองเรียนต่อ จนตอนนี้ เค้าได้ถึงจุดมุ่งหมายของชีวิตที่เค้าฝัน เค้าสอบได้เป็นข้าราชการ ประจำอยู่ในอำเภอแห่งหนึ่งในภาคใต้ ผมไม่ได้เจอเค้านาน จนบังเอิญพบในงานสัมนาแห่งหนึ่งดีใจมากอยากถามข่าวว่าเค้าเป็นยังไงบ้าง ….. ผมว่าในต้นทุนที่ไม่เท่ากันนี้ ทำให้คนใช้ความพยายามในการก้าวเดินไปข้างหน้าไม่เท่ากัน ถ้าคนต้นทุนต่ำหรือสมองช้าอาจจะต้องพยายามมากกว่าคนอื่นเค้า ถ้าอยากประสบความสำเร็จอย่างที่ตัวเองหวัง ถ้าเราล้มเลิกก็เท่ากับล้มเหลวแล้ว แต่ถ้าเรายังพยายามอยู่เราก็อยู่ในระหว่างทางจะไปถึงฝัน อาจจะยากหน่อย แต่ก็ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ … แต่ถ้าไม่มีฝัน ไม่มีหวัง ไม่พยายาม ไม่เดินต่อและยอมรับชตากรรม… ผมว่าชีวิตมันคงน่าเบื่อนะครับ เพราะว่า “จบตั้งแต่คิดเลิกล้มแล้ว”

Back to Top